ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
พ.ศ. ๒๕๔๙
ตามมติของที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด เมื่อวันที่ ๖ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้แก้ไขข้อบังคับ โดยยกเลิกข้อบังคับสหกรณ์เสียทั้งหมด และให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้รับจดทะเบียนแล้ว
ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด พ.ศ.๒๕๔๙”
ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน ให้ยกเลิกข้อบังคับสหกรณ์ที่มีอยู่ก่อนข้อบังคับสหกรณ์ฉบับที่่ใช้บังคับ นับแต่วันที่ข้อบังคับสหกรณ์ฉบับนี้มีผลบังคับใช้
บททั่วไป
ในข้อบังคับนี้
“สหกรณ์” หมายความว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
“คณะกรรมการดำเนินการ” หมายความว่า คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งสหกรณ์แต่งตั้งหรือจ้าง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ประจำหรือปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่กิจการของสหกรณ์
“เงินได้รายเดือน” หมายความว่า เงินเดือนหรือค่าจ้างประจำและเงินที่จ่ายควบกับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำ ซึ่งสมาชิกได้รับจากหน่วยงานเจ้าสังกัด และหมายถึงบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญซึ่งสมาชิกได้รับจากทางราชการด้วย
หมวด ๑
ชื่อ ประเภทและที่ตั้งสำนักงาน
ข้อ ๑. ชื่อ ประเภทและที่ตั้งสำนักงาน
ชื่อ สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด (ได้รับการจดทะเบียนครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙)
THE NAVAL DOCKYARD SAVING AND CREDIT COOPERATIVE, LIMITED
ใช้ชื่อย่อว่า “สอ.อร.”
ประเภท สหกรณ์ออมทรัพย์
ที่ตั้งสำนักงาน เลขที่ ๒ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๗๐๐
ท้องที่ดำเนินงาน กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
สหกรณ์อาจย้ายที่ตั้งสำนักงานได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร โดยแจ้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบโดยให้ปิดประกาศไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์เดิม สำนักงานส่วนราชการสหกรณ์และที่ว่าการอำเภอแห่งท้องที่สหกรณ์ตั้งอยู่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน กับให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในการประชุมใหญ่คราวต่อไปด้วย
ตราของสหกรณ์ มีรูปลักษณะ ดังนี้
ตรงกลางเป็นรูปสมอเรือสอดอยู่ในเฟืองล้อมรอบด้วยวงกลม ๒ วง ภายใต้ข้อความว่า “สหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด” ชั้นนอกสุดล้อมรอบด้วยดอกทานตะวัน
หมวด ๒
วัตุประสงค์
ข้อ ๒. วัตถุประสงค์ สหกรณ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมให้สมาชิกออมทรัพย์ โดยช่วยให้สามารถสงวนส่วนแห่งรายได้ของตนไว้ในทางอันมั่นคงและได้รับประโยชน์ตามสมควร
(๒) ส่งเสริมการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก
(๓) รับฝากเงินจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น
(๔) ฝากในชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
(๕) ฝากในธนาคารหรือฝากในสถาบันการเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
(๖) จัดหาทุนเพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(๗) ให้เงินกู้แก่สมาชิก
(๘) ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน
(๙) ซื้อหุ้นของธนาคารซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สหกรณ์
(๑๐) ซื้อหุ้นของชุมนุมสหกรณ์หรือสหกรณ์อื่น
(๑๑) ซื้อหุ้นของสถาบันที่ประกอบธุรกิจอันทำให้เกิดความสะดวก หรือส่งเสริมความเจริญแก่กิจการของสหกรณ์
(๑๒) ซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
(๑๓) ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตราสารการเงิน
(๑๔) ฝากหรือลงทุนอย่างอื่นตามกฎหมาย และตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
(๑๕) ดำเนินการให้กู้ยืมเพื่อการเคหะ
(๑๖) ให้สวัสดิการและการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว
(๑๗) ร่วมมือกับทางราชการ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และสหกรณ์อื่น เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงกิจการของสหกรณ์
(๑๘) กระทำการต่าง ๆ ตามที่อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น รวมถึงซื้อ ถือกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิ ครอบครอง กู้ ยืม เช่าหรือให้เช่า เช่าซื้อหรือให้เช่าซื้อ โอนหรือรับโอน สิทธิการเช่าหรือสิทธิการเช่าซื้อ ขายหรือจำหน่าย จำนองหรือรับจำนอง จำนำหรือรับจำนำ ด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิกหรือของสมาชิก
(๑๙) ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
(๒๐) ขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศ หรือบุคคลอื่นใด
(๒๑) ดำเนินกิจการอย่างอื่นบรรดาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(๒๒) ดำเนินธุรกิจอื่นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อประโยชน์ของสมาชิก
หมวด ๓
ทุน
ข้อ ๓. ที่มาของทุน สหกรณ์อาจหาทุนเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) ออกหุ้น
(๒) รับฝากเงินจากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่น
(๓) กู้ยืมเงินและรับเงินจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตราสารการเงินอย่างอื่น
(๔) สะสมทุนสำรองและทุนอื่น ๆ
(๕) รับเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้
หุ้น
ข้อ ๔. การออกหุ้น สหกรณ์ออกหุ้นได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีมูลค่าหุ้นละสิบบาท
ข้อ ๕. การถือหุ้น สมาชิกทุกคนต้องชำระค่าหุ้นเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนแรกที่เข้าเป็นสมาชิกตามอัตราส่วนของจำนวนเงินได้รายเดือนของตน ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ถ้าสมาชิกประสงค์จะถือหุ้นรายเดือนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์หรือจะขอซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอีกเมื่อใดก็ย่อมทำได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการแต่จำนวนหุ้นทั้งหมดต้องไม่เกินหนึ่งในห้าของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
สมาชิกจะโอนหรือถอนหุ้นในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้
ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุด สหกรณ์ไม่ต้องส่งเงินค่าหุ้นของสมาชิกเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกนั้น
ข้อ ๖. การชำระค่าหุ้นรายเดือน การชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้น ให้ชำระโดยวิธีหักจากเงินได้รายเดือนของสมาชิกในวันจ่ายเงินได้รายเดือนประจำเดือนนั้น ๆ ทุกเดือน
เมื่อสมาชิกมีคำขอเป็นหนังสือและคณะกรรมการดำเนินการ ได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าสมาชิกนั้น ตกอยู่ในพฤติการณ์อันทำให้ไม่สามารถชำระค่าหุ้นรายเดือนได้โดยมิใช่เกิดขึ้นด้วยเจตนาอันไม่สุจริตของตน คณะกรรมการดำเนินการจะอนุญาตให้สมาชิกนั้นมิต้องชำระค่าหุ้นรายเดือนชั่วระยะเวลาตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรก็ได้
ข้อ ๗. การงด หรือลดชำระเงินค่าหุ้นรายเดือน สมาชิกที่ได้ชำระเงินค่าหุ้นไม่น้อยกว่าแปดสิบสี่เดือนหรือเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน และไม่มีหนี้สินกับสหกรณ์ จะงดชำระเงินค่าหุ้นรายเดือนหรือลดจำนวนการถือหุ้นรายเดือนลงก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ แต่ในปีหนึ่ง ๆ จะขอเปลี่ยนแปลงมากกว่าสองครั้งไม่ได้
ข้อ ๘. การแจ้งยอดจำนวนหุ้น สหกรณ์จะแจ้งยอดจำนวนหุ้นที่สมาชิกชำระเต็มมูลค่าแล้วให้สมาชิกแต่ละคนทราบทุกสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
หมวด ๔
การดำเนินงาน
การรับเงินฝาก
ข้อ ๙. การรับฝากเงิน สหกรณ์อาจรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ ประเภทออมทรัพย์พิเศษ ประเภทออมทรัพย์ ทวีสิน หรือประเภทประจำ จากสมาชิกหรือสหกรณ์อื่นได้ตามระเบียบของสหกรณ์
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝาก ดอกเบี้ย การถอนเงินฝากและอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การให้เงินกู้
ข้อ ๑๐. การให้เงินกู้ เงินกู้นั้นอาจให้ได้แก่
(๑) สมาชิกของสหกรณ์
(๒) สหกรณ์อื่น
การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตามข้อบังคับนี้และตามระเบียบของสหกรณ์
ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ ประเภทและจำกัดแห่งเงินกู้ หลักประกันสำหรับเงินกู้ ลำดับแห่งการให้เงินกู้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้ การควบคุมหลักประกัน การเรียกคืนเงินกู้และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
การให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นนั้น คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาให้กู้ได้ต่อเมื่อสหกรณ์มีเงินทุนเหลือจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นซึ่งประสงค์จะขอกู้เงินจากสหกรณ์นี้ ต้องเสนอคำขอกู้ตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้
อนึ่ง ถ้าผู้ขอกู้เป็นลูกจ้างหรือข้าราชการต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรต้องเสนอคำขอกู้โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของผู้บังคับบัญชาไม่ต่ำกว่าตำแหน่งหัวหน้าแผนก แต่ถ้าผู้ขอกู้เงินเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรก็ไม่ต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นดังว่านั้น
ข้อ ๑๑. ความมุ่งหมายแห่งเงินกู้ เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิกไม่ว่าประเภทใด ๆ จะให้ได้แต่เฉพาะเพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร
ให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่องและกวดขันการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้ตรงตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
ข้อ ๑๒. ประเภทแห่งเงินกู้ สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ตามประเภทดังต่อไปนี้
(๑) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ในกรณีที่สมาชิกมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุอันจำเป็นรีบด่วน และมีความประสงค์ขอกู้เงิน คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้เพื่อเหตุนั้นได้ตามระเบียบของสหกรณ์
(๒) เงินกู้สามัญ ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์ขอกู้เงินสำหรับใช้จ่าย เพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่าง ๆ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้นได้ตามระเบียบของ สหกรณ์
(๓) เงินกู้พิเศษ เมื่อสหกรณ์มีฐานะการเงินก้าวหน้าพอที่จะช่วยเหลือให้เงินกู้ เพื่อส่งเสริมฐานะความมั่นคงหรือเพื่อการเคหะ หรือก่อประโยชน์งอกเงยแก่สมาชิกได้ โดยจำนวนเงินเกินกว่าจำกัดที่สมาชิกนั้นอาจได้รับเงินกู้สามัญ (ตามที่ได้กล่าวใน (๒) ข้างบนนี้) คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกนั้นได้ตามที่เห็นสมควร โดยผู้กู้ต้องระบุความมุ่งหมายแต่ละอย่างของเงินกู้ประเภทนี้ ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีการ และต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๑๓. ดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สหกรณ์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่ให้แก่สมาชิกในอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๑๔. การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดบกพร่อง ผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที โดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้ และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า
(๑) เมื่อสมาชิกผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ
(๒) เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการดำเนินการว่าผู้กู้นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(๓) เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง และผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(๔) เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ
ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่กล่าวในวรรคก่อน และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอคณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้ผู้ค้ำประกันชำระเป็นงวดรายเดือนจนครบจำนวนเงินกู้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนงวดสำหรับเงินกู้ประเภทนั้น ๆ
ข้อ ๑๕. ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันว่า ถ้าตนประสงค์จะขอโอนหรือย้าย หรือลาออกจากราชการ หรืองานประจำ ตามข้อ ๓๑(ก)(๓) จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน (เว้นแต่กรณีที่ยังคงเป็นสมาชิกอยู่ตามข้อ ๔๓)
การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์
ข้อ ๑๖. การฝากหรือการลงทุนของสหกรณ์ เงินของสหกรณ์นั้นสหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ และตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ
การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน
ข้อ ๑๗. วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกัน ที่ประชุมใหญ่อาจกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่งๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ถ้าที่ประชุมใหญ่ยังมิได้กำหนดหรือนายทะเบียนสหกรณ์ยังมิได้ให้ความเห็นชอบวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีใด ก็ให้ใช้วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีก่อนไปพลาง
ข้อ ๑๘. การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน สหกรณ์อาจกู้ยืมเงิน หรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารการเงิน หรือโดยวิธีอื่นใด สำหรับใช้เป็นทุนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการ เห็นสมควร ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายในวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันประจำปีตามข้อ ๑๗
การเงินและการบัญชีของสหกรณ์
ข้อ ๑๙. การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ การลงลายมือชื่อเพื่อให้มีผลผูกพันสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นพิเศษตามข้อบังคับนี้ ให้ปฏิบัติดังนี้
(๑) หนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม ตลอดจนการเบิก หรือรับเงินกู้ การจำนองซึ่งสหกรณ์เป็นผู้จำนอง การถอนเงินฝากของสหกรณ์ และในนิติกรรมอื่น ๆ จะต้องลงลายมือชื่อของประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ หรือเหรัญญิก หรือกรรมการผู้ที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายหรือผู้จัดการรวมเป็นสองคน
(๒) การรับฝากเงิน ใบรับเงิน และเอกสารทั้งปวงนอกจากที่กล่าวไว้ใน (๑) ข้างบนนี้จะต้องลงลายมือชื่อของผู้จัดการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
อนึ่ง ในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม เช็ค ใบสั่งจ่ายเงิน ใบรับเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและตราสารการเงินของสหกรณ์นั้น ต้องประทับตราของสหกรณ์เป็นสำคัญด้วย
ข้อ ๒๐. การเงินของสหกรณ์ การรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๒๑. การบัญชีของสหกรณ์ ให้สหกรณ์จัดให้มีการทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด และเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานสหกรณ์ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
ให้บันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสดของสหกรณ์ในวันที่เกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวัน นับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึกรายการนั้น และการลงบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน
ให้สหกรณ์จัดทำงบดุลอย่างน้อยครั้งหนึ่งทุกรอบสิบสองเดือนอันจัดว่าเป็นรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์ ซึ่งต้องมีรายการแสดงสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของสหกรณ์ กับทั้งบัญชีกำไรขาดทุนตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้สิ้นสุด ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี
ข้อ ๒๒. การเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนองบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว เพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี
ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ด้วยในคราวที่เสนองบดุล และให้ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์งบดุล พร้อมทั้งข้อบังคับ ระเบียบ และกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ข้อ ๒๓. ทะเบียนและเอกสารของสหกรณ์ ให้สหกรณ์มีทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้น สมุดรายงานการประชุม ตลอดจนทะเบียนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น
ให้สหกรณ์รายงานการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิกหรือทะเบียนหุ้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์
สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคก่อนได้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงาน แต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้ของสมาชิกรายอื่นไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น และได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการก่อน
ให้สหกรณ์จัดให้มีพระราชบัญญัติสหกรณ์และกฎหมายออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ ซึ่งคงใช้อยู่กับข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์นี้ไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ สมาชิกและผู้สนใจอาจขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
การตรวจสอบบัญชีและการกำกับดูแลสหกรณ์
ข้อ ๒๔. การตรวจสอบบัญชี บัญชีของสหกรณ์นั้นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปและตามระเบียบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด โดยผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง
ข้อ ๒๕. การกำกับดูแลสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการ คณะอนุกรรมการอื่น ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ หรือเชิญสมาชิกของสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมได้ และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้
ทั้งนี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องตามความในวรรคแรกอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือและให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร
ข้อ ๒๖. การส่งรายการหรือรายงาน ให้สหกรณ์ส่งรายการหรือรายงานเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล ตามแบบและระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นกำหนด
กำไรสุทธิประจำปี
ข้อ ๒๗. การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้ปิดบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อนนั้น ที่ประชุมใหญ่อาจจะจัดสรรได้ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลตาม (๔) ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วยจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้นก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว
ในการคำนวณเงินปันผลตามหุ้น ให้ถือว่าหุ้นที่สมาชิกได้ชำระต่อสหกรณ์ภายในวันที่เจ็ดของเดือนมีระยะเวลาสำหรับคำนวณเงินปันผลตั้งแต่เดือนนั้น ส่วนหุ้นที่สมาชิกชำระต่อสหกรณ์หลังวันที่เจ็ดของเดือน สหกรณ์จะคิดเงินปันผลให้ตั้งแต่เดือนถัดไป
(๒) เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี เว้นแต่สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยในปีใด มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น
(๓) เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ
(๔) เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผล ไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นตาม (๑)
(๕) เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ตามระเบียบของสหกรณ์
(๖) เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงานหรือทุนอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์
(๗) กำไรสุทธิส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
ทุนสำรอง
ข้อ ๒๘. ที่มาแห่งทุนสำรอง นอกจากจัดสรรจากกำไรสุทธิตามข้อ ๒๗ แล้ว บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์ ถ้าผู้ยกให้มิได้กำหนดว่าให้ใช้เพื่อการใด ให้จัดสรรเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินนั้นเป็นทุนสำรองของสหกรณ์
อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึงจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความก็ให้สมทบจำนวนเงินนั้นเป็นทุนสำรอง
กำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่จัดสรรตามข้อ ๒๗ หากที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่ารายการใดไม่สมควรจัดสรรหรือตัดจำนวนให้น้อยลงก็ดี ยอดเงินจำนวนดังกล่าวให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
ข้อ ๒๙. สภาพแห่งทุนสำรอง ทุนสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวม สมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่ได้
ทุนสำรองนี้จะถอนจากบัญชีได้เพื่อชดเชยการขาดทุนอันหากบังเกิดขึ้น หรือเพื่อจัดสรรเข้าบัญชีทุนสำรองให้แก่สหกรณ์ใหม่ที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกจากสหกรณ์เดิม
หมวด ๕
สมาชิกและสมาชิกสมทบ
ข้อ ๓๐. สหกรณ์นี้ประกอบด้วย
(๑) สมาชิก คือ ผู้ที่มีรายชื่อ และลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อ ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสหกรณ์ หรือ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกตามข้อบังคับที่ได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน
(๒) สมาชิกสมทบ คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกสมทบตามข้อบังคับ และได้ลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิกสมทบ
ข้อ ๓๑. คุณสมบัติของสมาชิก และสมาชิกสมทบ
(ก) สมาชิก ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(๑) เป็นผู้เห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(๒) เป็นบุคคลธรรมดา และบรรลุนิติภาวะ
(๓) เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ สังกัดกรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ หรือกรมช่างโยธาทหารเรือ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
(๔) เป็นผู้มีความประพฤติ และนิสัยดีงาม
(๕) มิได้เป็นสมาชิกในสหกรณ์อื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน
(ข) สมาชิกสมทบ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๑) บุคคลธรรมดา ได้แก่
ก. บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของสมาชิก
ข. พนักงานราชการ ในสังกัดกรมอู่ทหารเรือ หรือกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ หรือ กรมช่างโยธาทหารเรือ
ค. ลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดกรมอู่ทหารเรือ หรือกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ หรือกรมช่างโยธาทหารเรือ
ง. นักเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ
จ. เป็นข้าราชการพรรคกลิน ซึ่งเกษียณอายุ หรือ ลาออกจากราชการ
ฉ. เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำที่เคยสังกัดกรมอู่ทหารเรือ หรือกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ หรือกรมช่างโยธาทหารเรือ ซึ่งเกษียณอายุราชการ หรือลาออกจากราชการ
(๒) บุคคลธรรมดาตาม ๓๑ (ข) (๑) จะต้องเป็นผู้ที่
ก. มีความเห็นชอบในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
ข. เป็นผู้มีความประพฤติ และนิสัยดีงาม
(๓) หน่วยราชการที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมอู่ทหารเรือ หรือกรมอิเล็กทรอนิกส์ ทหารเรือ หรือกรมช่างโยธาทหารเรือ
ข้อ ๓๒. การเข้าเป็นสมาชิก และ สมาชิกสมทบ ผู้สมัครเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ ต้องยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้โดยต้องมีผู้บังคับบัญชาของผู้สมัครในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าข้าราชการชั้นสัญญาบัตรคนหนึ่งรับรอง แต่ถ้าผู้สมัครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตรก็ไม่ต้องมีผู้รับรอง
ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบ ตามข้อบังคับต้องยื่นใบสมัครตามแบบที่สหกรณ์กำหนด สำหรับผู้สมัครที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นลายลักษณ์อักษร
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเป็นที่พอใจว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๑ ทั้งเห็นเป็นการสมควรรับเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบได้ ก็ให้แจ้งผู้สมัครนั้น ชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้า และชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือให้ครบถ้วน แล้วเสนอเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกสมทบเข้าใหม่ให้ที่ประชุมใหญ่คราวถัดไปทราบ
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่ยอมรับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบด้วยเหตุใด ๆ เมื่อผู้สมัครร้องขอก็ให้คณะกรรมการดำเนินการนำเรื่องเสนอที่ประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด มติแห่งที่ประชุมใหญ่ให้รับเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบในกรณีดังว่านี้ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
กรณีที่สมาชิกหรือสมาชิกสมทบได้ลาออกจากสหกรณ์แล้ว มีความประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบสหกรณ์อีก จะต้องมีระยะเวลาเว้นไม่น้อยกว่าสิบสองเดือนนับแต่วันที่ลาออก แต่สมาชิกหรือสมาชิกสมทบกรณีเช่นว่านี้ไม่มีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือสมาชิกสมทบในครั้งที่สาม
ข้อ ๓๓. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ถือเป็นรายได้ของสหกรณ์จะเรียกคืนมิได้ โดยผู้สมัครจะต้องชำระค่าธรรมเนียม แรกเข้า ดังนี้
(๑) เข้าเป็นสมาชิกคนละห้าสิบบาท
(๒) เข้าเป็นสมาชิกสมทบคนละหนึ่งร้อยบาท
ข้อ ๓๔. สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิก และสมาชิกสมทบ ผู้เข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกสมทบต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้แล้วจึงจะถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิกและสมาชิกสมทบ
(ก) สิทธิของสมาชิกมี ดังนี้
(๑) เข้าร่วมประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน
(๒) เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
(๓) เสนอหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ หรือผู้ตรวจสอบกิจการ สหกรณ์
(๔) ได้รับบริการทางธุรกิจและทางวิชาการจากสหกรณ์
(๕) สิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์
(ข) หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
(๑) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(๒) เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่สหกรณ์นัดหมาย
(๓) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์การที่เข้มแข็ง
(๔) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
(๕) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการ พัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
(ค) สิทธิของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(๑) สิทธิเกี่ยวกับการฝากเงินกับสหกรณ์ ตามระเบียบการรับเงินฝากจากสมาชิก
(๒) สิทธิเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ และที่อยู่ตามข้อ ๓๗ การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อ ๓๘ และการลาออกจากสหกรณ์ตามข้อ ๔๐ โดยอนุโลม
(๓) ถือหุ้นแรกเข้าไม่ต่ำกว่าห้าสิบหุ้น และสูงสุดไม่เกินห้าร้อยหุ้น โดยซื้อหุ้นได้ครั้งเดียวในวันสมัคร
(๔) สามารถกู้เงินเฉพาะประเภทสามัญได้ไม่เกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหุ้นและ หรือเงินฝากออมทรัพย์ที่ตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ในเวลานั้น ส่วนการชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยเงินให้กู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้
(๕) ได้รับการบริการทางวิชาการจากสหกรณ์
(ง) หน้าที่ของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(๑) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์การที่เข้มแข็ง
(๓) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง
(๔) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
ข้อ ๓๕. สมาชิกย้ายสังกัด สมาชิกที่ย้าย หรือโอนไปรับราชการในสังกัดอื่น และประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งตั้งขึ้นในสังกัดนั้น หากสหกรณ์นั้นมีข้อบังคับให้รับเข้าเป็นสมาชิกได้และคณะกรรมการดำเนินการได้มีมติให้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ถ้าสมาชิกนั้นมีความประสงค์จะให้โอนเงินค่าหุ้นและเงินกู้ที่ตนมีอยู่ในสหกรณ์นี้ไปยังสหกรณ์ที่ตนได้ไปเข้าเป็นสมาชิกใหม่ สหกรณ์ก็จะจัดการโอนเงินค่าหุ้น เงินกู้ และเงินฝาก (ถ้ามี) ที่สมาชิกนั้นมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้ตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๓๖. การรับโอนสมาชิกสหกรณ์อื่น สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นซึ่งย้ายหรือโอนมารับราชการในสังกัดตามข้อ ๓๑ (ก) (๓) หากประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกก็ให้ยื่นใบสมัครถึงสหกรณ์ เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดใน ข้อ ๓๒ ครบถ้วนแล้ว ก็จะได้สิทธิในฐานะสมาชิกตามข้อ ๓๔ ทั้งนี้ เมื่อสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เดิมได้โอนเงินค่าหุ้นให้สหกรณ์นี้เสร็จสิ้นแล้ว
การรับโอนเงินค่าหุ้นและการปฏิบัติเกี่ยวกับหนี้สินที่มีอยู่ในสหกรณ์เดิมนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๓๗. การเปลี่ยนแปลงชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ สมาชิกคนใดมีการเปลี่ยนแปลงชื่อ สัญชาติและที่อยู่ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
การตั้งผู้รับโอนประโยชน์
ข้อ ๓๘. การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ สมาชิกจะทำเป็นหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคน เพื่อให้เป็นผู้รับโอนประโยชน์ซึ่งตนมีอยู่ในสหกรณ์ในเมื่อตนตายนั้นมอบให้สหกรณ์ถือไว้ หนังสือตั้งผู้รับโอนประโยชน์ดังว่านี้ต้องทำตามลักษณะพินัยกรรมแบบธรรมดาหรือแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ
ถ้าสมาชิกประสงค์จะเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ทำไว้แล้ว ก็ต้องทำเป็นหนังสือตามลักษณะดังกล่าวในวรรคก่อนมอบให้สหกรณ์ถือไว้
เมื่อสมาชิกตาย ให้สหกรณ์แจ้งให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคก่อนทราบ และสหกรณ์จะจ่ายเงินค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และเงินผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดบรรดาที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในสหกรณ์ให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ได้นำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในข้อ ๔๔ และข้อ ๔๕
ให้ผู้รับโอนประโยชน์ตามความในวรรคแรก ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ต่อสหกรณ์ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่สมาชิกตายหรือได้รับแจ้งจากสหกรณ์ โดยให้แนบสำเนามรณบัตรที่ทางราชการออกให้แสดงว่าสมาชิกนั้น ๆ ได้ถึงแก่ความตายไปประกอบการพิจารณาด้วย เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้พิจารณาและอนุมัติแล้ว สหกรณ์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ดังกล่าวภายในสี่สิบห้าวัน ในกรณีผู้มีสิทธิรับเงินผลประโยชน์ไม่ยื่นคำขอรับเงินผลประโยชน์ หรือผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับโอนประโยชน์ที่สมาชิกได้จัดทำให้สหกรณ์ถือไว้ไม่มีตัวอยู่ก็ดี เมื่อพ้นกำหนดอายุความฟ้องคดีให้สหกรณ์โอนจำนวนเงินดังกล่าว เว้นแต่เงินค่าหุ้นและเงินรับฝาก ไปสมทบเป็นทุนสำรองของสหกรณ์ทั้งสิ้น
การขาดจากสมาชิกภาพ
ข้อ ๓๙. การขาดจากสมาชิกภาพ
(ก) สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพ เพราะเหตุใด ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
(๕) ถูกออกจากราชการ หรืองานประจำ โดยมีความผิด
(๖) ถูกให้ออกจากสหกรณ์
(๗) ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๓๑(ก)
(ข) สมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพ เพราะเหตุใดๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย หรือยกเลิกหน่วยราชการ
(๒) ลาออกจากสหกรณ์
(๓) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(๔) ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย
(๕) ถูกให้ออกจากสหกรณ์ กรณีจงใจฝ่าผืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ หรือประพฤติการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ หรือทำให้เสื่อมเสียต่อสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใดๆ
(๖) ขาดคุณสมบัติของสมาชิกสมทบตามข้อ ๓๑(ข)
ในกรณีที่สมาชิกสมทบขาดจากสมาชิกภาพ สหกรณ์จะจ่ายคืนค่าหุ้น เงินรับฝากและดอกเบี้ยตามระเบียบของสหกรณ์ให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับโอนผลประโยชน์ ให้นำความในข้อ ๔๒, ๔๔, ๔๕, และ ๔๖ มาบังคับใช้โดยอนุโลม
ข้อ ๔๐. การลาออกจากสหกรณ์ สมาชิกผู้ไม่มีหนี้สินอยู่ต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันอาจลาออกจากสหกรณ์ได้ โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณาเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับและอนุญาตแล้ว จึงให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ได้
คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบหมายให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือกรรมการดำเนินการสอบสวนพิจารณา หากเห็นว่าเป็นการชอบด้วยข้อบังคับก็ให้ถือว่าออกจากสหกรณ์ตามความในวรรคก่อนได้ แล้วให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปทราบด้วย
ข้อ ๔๑. การให้ออกจากสหกรณ์ สมาชิกอาจถูกให้ออกจากสหกรณ์เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ขาดชำระค่าหุ้นรายเดือนถึงสามงวดติดต่อกันหรือขาดชำระรวมถึงหกงวด ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดำเนินการ
(๒) นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(๓) ไม่จัดการแก้ไขหลักประกันสำหรับเงินกู้ที่เกิดบกพร่องให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
(๔) ค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลาถึงสองเดือน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ
(๕) ไม่ให้ข้อความจริงเกี่ยวกับหนี้สินของตนแก่สหกรณ์เมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือเมื่อจะก่อความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันหรือเมื่อมีความผูกพันในหนี้สินต่อสหกรณ์อยู่แล้ว
(๖) จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์หรือประพฤติการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริต แสดงตนเป็นปฏิปักษ์หรือทำให้เสื่อมเสียต่อสหกรณ์ไม่ว่าโดยประการใด ๆ
เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้สอบสวนพิจารณา ปรากฏว่าสมาชิกมีเหตุใดๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้และได้ลงมติให้สมาชิกออกโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนกรรมการดำเนินการที่มาประชุมก็เป็นอันถือว่าสมาชิกนั้นถูกให้ออกจากสหกรณ์
สมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ โดยให้ยื่นอุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ตรวจสอบกิจการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ออกจากสหกรณ์ คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นที่สุด
ข้อ ๔๒. การถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ ให้คณะกรรมการดำเนินการถอนชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนสมาชิก แล้วเสนอเรื่องสมาชิกออกให้ที่ประชุมใหญ่สามัญคราวถัดไปทราบ
ข้อ ๔๓. สมาชิกโอนย้ายไปอยู่หน่วยนอก ทร. หรือออกจากราชการ หรืองานประจำโดยไม่มีความผิด เว้นแต่ออกเพราะตายหรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย ถ้ามิได้ลาออกจากสหกรณ์ด้วย ก็ให้ถือว่าคงเป็นสมาชิกอยู่ และจะงดชำระค่าหุ้นได้ก็ต่อเมื่อมีหนี้สินไม่เกินค่าหุ้น สมาชิกเช่นว่านั้นให้ได้รับเงินกู้ไม่เกินร้อยละเก้าสิบของค่าหุ้นที่ตนมีอยู่ในสหกรณ์
สมาชิกที่ย้ายออกจากสังกัดตามข้อ ๓๑ (ก)(๓) โดยไม่มีความผิดให้ถือว่ายังคงเป็นสมาชิกอยู่ และจะงดชำระค่าหุ้นได้ก็ต่อเมื่อมีหนี้สินไม่เกินค่าหุ้น สมาชิกเช่นว่านั้นให้มีสิทธิได้รับเงินกู้ และสิทธิค้ำประกันเช่นเดียวกับสมาชิกตามข้อ ๓๑ (ก)(๓) ทุกประการ
ข้อ ๔๔. การจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพ ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ ๓๙(ก)(๑), (๒), (๓) นั้น สหกรณ์จะจ่ายคืนค่าหุ้น เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกมีอยู่ในสหกรณ์ให้ก่อนค่าหุ้นของสมาชิกซึ่งออกเพราะเหตุอื่น พร้อมด้วยเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ โดยเฉพาะค่าหุ้นนั้นผู้มีสิทธิได้รับจะเรียกให้สหกรณ์จ่ายคืนทันทีโดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้น หรือจะเรียกให้จ่ายคืนหลังจากวันสิ้นปีทางบัญชีที่ออก โดยได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีที่ออกนั้นด้วย ในเมื่อที่ประชุมใหญ่มีมติให้จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีนั้นแล้วก็ได้สุดแต่จะเลือก ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้นสหกรณ์จะจ่ายคืนให้ตามระเบียบของสหกรณ์
ถ้าในปีใด จำนวนค่าหุ้นที่ถอนคืนเนื่องจากสมาชิกขาดจากสมาชิกภาพจะเกินร้อยละสิบแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันต้นปีนั้น คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจให้รอการจ่ายคืนค่าหุ้นของสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพรายต่อไปในปีนั้นไว้จนถึงปีทางบัญชีใหม่ แต่เฉพาะสมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพเนื่องจากตนได้ย้ายหรือออกจากราชการหรืองานประจำโดยไม่มีความผิดนั้น คณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันเป็นพิเศษ
ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ ๓๙ (ก)(๔) สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ตามกฎหมายล้มละลาย
ในกรณีที่สมาชิกขาดจากสมาชิกภาพเพราะเหตุตามข้อ ๓๙ (ก)(๕), (๖), (๗) นั้น สหกรณ์จะจ่ายค่าหุ้น เงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืนกับดอกเบี้ยค้างจ่ายบรรดาที่สมาชิกนั้นมีอยู่ในสหกรณ์คืนให้ภายในเวลาอันสมควร โดยไม่มีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนตั้งแต่ประจำปีที่ออกจากสหกรณ์ หรือหากสมาชิกขอให้จ่ายค่าหุ้นภายหลังวันสิ้นปี โดยขอรับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนในปีนั้นภายหลังที่ที่ประชุมใหญ่ได้พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีก็ได้ ส่วนเงินรับฝากและดอกเบี้ยนั้น สหกรณ์จะจ่ายให้ตามระเบียบของสหกรณ์
ข้อ ๔๕. การหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ ในการจ่ายคืนจำนวนเงินของสมาชิกตามข้อ ๔๔ นั้น สหกรณ์มีอำนาจหักจำนวนเงินซึ่งสมาชิกต้องรับผิดต่อสหกรณ์ออกก่อน
ความรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์
ข้อ ๔๖. ความรับผิดของสมาชิก สมาชิกมีความรับผิดเพื่อหนี้สินของสหกรณ์จำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
หมวด ๖
การประชุมใหญ่
ข้อ ๔๗. การประชุมใหญ่สามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการนัดบรรดาสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญปีละหนึ่งครั้ง ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ และมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ ๔๘. การประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อมีเหตุอันสมควรคณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ หรือในกรณีที่สหกรณ์ขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ
สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องขอ
ถ้าคณะกรรมการดำเนินการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร
ข้อ ๔๙. การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวันเวลา สถานที่ และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วนอาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการหรือเลขานุการ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือนั้น และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบล่วงหน้าในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิกทราบด้วย
ข้อ ๕๐. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนจึงจะเป็นองค์ประชุม
ในการประชุมใหญ่ สมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้
ข้อ ๕๑. การนัดประชุมใหญ่ครั้งที่สอง ในการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ถ้าสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก ในการประชุมครั้งหลังนี้ ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้ว เมื่อมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าสามสิบคนก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม เมื่อมีสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็นองค์ประชุมตามที่กล่าวในข้อ ๕๐ วรรคแรก ก็ให้งดประชุม
ข้อ ๕๒. อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องทั้งปวงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) รับทราบเรื่องการรับสมาชิกเข้าใหม่ สมาชิกออกจากสหกรณ์ และวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัครซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก และสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์
(๒) พิจารณาเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์
(๓) พิจารณาอนุมัติงบดุล และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์
(๔) รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ของคณะกรรมการดำเนินการและของผู้ตรวจสอบกิจการ
(๕) พิจารณากำหนดบำเหน็จค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของกรรมการดำเนินการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ และผู้ตรวจสอบกิจการ
(๖) พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน
(๗) อนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์
(๘) พิจารณาการแยกสหกรณ์
(๙) พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(๑๐) รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกอยู่
(๑๑) พิเคราะห์และปฏิบัติตามบันทึกหรือหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียน สหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(๑๒) กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
หมวด ๗
คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ ๕๓. คณะกรรมการดำเนินการ ให้สหกรณ์มีคณะกรรมการดำเนินการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน เหรัญญิกหนึ่งคน และกรรมการดำเนินการอีกสิบสามคน รวมเป็นสิบห้าคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิก
ให้กรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเองขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหนึ่งคนหรือหลายคน เลขานุการหนึ่งคน นอกนั้นเป็นกรรมการ และปิดประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ณ สำนักงานสหกรณ์
ห้ามไม่ให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการดำเนินการ
(๑) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต
(๒) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนฐานทุจริตต่อหน้าที่
(๓) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
(๔) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
(๕) สมาชิกซึ่งผิดนัดการชำระเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยในระยะเวลาสองปีทางบัญชีนับแต่ปีที่ผิดนัดถึงปีที่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เว้นแต่การผิดนัดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
(๖) ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
ข้อ ๕๔. อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๒) ควบคุมดูแลการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(๓) ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(๔) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการแทนประธานกรรมการ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง
(๒) ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมายให้
(๓) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ค) เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
(๒) ดูแลรักษาเอกสาร และรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
(๓) แจ้งนัดประชุมไปยังบรรดาสมาชิก หรือกรรมการดำเนินการ แล้วแต่กรณี
(๔) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมายข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(ง) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(๒) ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ ๕๕. กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง คณะกรรมการดำเนินการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง ให้กรรมการดำเนินการสหกรณ์ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทั้งหมดโดยวิธีจับสลาก (ถ้ามีเศษให้ปัดขึ้น) และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระหรืออยู่นานที่สุดออกจากตำแหน่งสลับกันไปทุก ๆ ปี
เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมรักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์
กรรมการดำเนินการสหกรณ์ซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกตั้งซ้ำอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีที่กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้กรรมการดำเนินการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่อยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับกรรมการดำเนินการชุดแรก และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๕๖. การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ลาออก โดยแสดงความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ หรือลาออกต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์
(๓) ขาดจากสมาชิกภาพ
(๔) เข้ารับตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้
(๕) ตกเป็นผู้ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าเงินต้นหรือดอกเบี้ย เว้นแต่การผิดนัดนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
(๖) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะ หรือรายตัว
(๗) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะ หรือรายตัว
(๘) ขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้ง โดยไม่มีเหตุอันควร
ให้กรรมการดำเนินการผู้มีส่วนได้เสียตาม (๗) อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติให้เป็นที่สุด
กรณีที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนให้กรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการใหม่ทั้งคณะอยู่ในตำแหน่งได้เช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการชุดแรก
ข้อ ๕๗. ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ (เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ ๕๖ (๗)) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลงจนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระตามความในวรรคก่อนนั้น เป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หากไม่มีรองประธานกรรมการทำหน้าที่แทนและยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้นทำหน้าที่แทนชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
ข้อ ๕๘. การประชุมและองค์ประชุม ให้คณะกรรมการดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่ต้องมีการประชุมกันเดือนละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ และเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๕๙. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความจำเริญแก่สหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) พิจารณาในเรื่องการรับสมาชิกและสมาชิกออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติและคำสั่งของสหกรณ์
(๒) พิจารณาในเรื่องการรับฝากเงิน การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝากหรือลงทุนของ สหกรณ์
(๓) กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ และเสนองบดุลและรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(๔) เสนอแนะการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(๕) เสนอแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(๖) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งหรือจ้าง และกำหนดค่าตอบแทนของผู้จัดการ ตลอดจนควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของผู้จัดการให้เป็นการถูกต้อง
(๗) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
(๘) กำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์
(๙) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อยซึ่งบรรดาทะเบียน สมุดบัญชีเอกสารต่างๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(๑๐) พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกและออกจากชุมนุมสหกรณ์ และองค์กรอื่น
(๑๑) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งและถอดถอนคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(๑๒) พิเคราะห์และปฏิบัติตามหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(๑๓) พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก เจ้าหน้าที่สหกรณ์ ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ดำเนินไปด้วยดี
(๑๔) พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการอื่น ผู้ตรวจสอบกิจการ ความเห็นของผู้จัดการ สมาชิก เกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(๑๕) เชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอกที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
(๑๖) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด
(๑๗) พิจารณาดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(๑๘) พิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำเนินการเป็นผู้แทนสหกรณ์เพื่อเข้าประชุมใหญ่ และออกเสียงในการประชุมใหญ่ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์กรอื่น ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิก ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่ข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ และองค์กรนั้นกำหนดไว้
(๑๙) พิจารณามอบหมายอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานให้แก่ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก ผู้จัดการและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม
(๒๐) พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเช่าที่พักของคณะกรรมการดำเนินการ คณะอนุกรรมการอื่น คณะทำงาน ที่ปรึกษา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
ข้อ ๖๐. ความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการ ในกรณีคณะกรรมการดำเนินการกระทำการหรืองดเว้นการกระทำการ หรือกระทำการโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสียผลประโยชน์ของสหกรณ์ หรือสมาชิก อันเป็นเหตุให้สหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงินตามรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์
คณะอนุกรรมการอื่นและคณะทำงาน
ข้อ ๖๑. คณะอนุกรรมการเงินกู้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการของสหกรณ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์นี้ไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะอนุกรรมการเงินกู้ โดยให้มีตำแหน่งประธานอนุกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการเงินกู้ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งตั้งคณะอนุกรรมการเงินกู้นั้น
ให้คณะอนุกรรมการเงินกู้มาประชุมกันตามความจำเป็น แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานอนุกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะอนุกรรมการเงินกู้จะต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของอนุกรรมการเงินกู้ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ ๖๒. อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการเงินกู้ ให้คณะอนุกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติการให้เงินกู้แก่สมาชิกตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอมหมาย ตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(๒) ตรวจสอบการควบคุมให้เงินกู้มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๓) ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(๔) สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผันหรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์
ข้อ ๖๓. คณะอนุกรรมการศึกษา ให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการดำเนินการตามกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน เป็นคณะอนุกรรมการศึกษา โดยให้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และเลขานุการคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการศึกษาให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการซึ่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษานั้น
ให้คณะอนุกรรมการศึกษาประชุมกันตามความจำเป็น แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานอนุกรรมการศึกษา หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษา ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนของอนุกรรมการศึกษาทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้คณะอนุกรรมการศึกษารายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการทราบในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ ๖๔. อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการศึกษา ให้คณะอนุกรรมการศึกษามีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) ให้การศึกษาอบรมสมาชิกและผู้ที่สนใจให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักวิธีการ และการบริหารงานของสหกรณ์
(๒) ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก และบุคคลภายนอก ได้ทราบถึงผลงานของสหกรณ์ที่ได้ดำเนินงานไป
(๓) ดำเนินการในการหาผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก
(๔) ให้การศึกษาอบรมแก่สมาชิกถึงวิธีการออมทรัพย์ และการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ
(๕) ศึกษาและติดตามข่าวความเคลื่อนไหวด้านการดำเนินงานของสหกรณ์อื่นทั้งในและนอกประเทศเพื่อนำตัวอย่างที่ดีมาเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณานำมาบริการแก่สมาชิกตามความเหมาะสม
ข้อ ๖๕. คณะทำงาน ในกรณีจำเป็นแก่การดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการอาจมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจของสหกรณ์ โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ประธานในที่ประชุม
ข้อ ๖๖. ประธานในที่ประชุม ในการประชุมใหญ่หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ให้ประธานกรรมการดำเนินการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการดำเนินการไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้รองประธานกรรมการดำเนินการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการดำเนินการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมคณะอนุกรรมการอื่น ๆ เช่น คณะอนุกรรมการเงินกู้ คณะอนุกรรมการศึกษา ให้ประธานของคณะอนุกรรมการนั้น ๆ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานอนุกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้ที่ประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ในการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ได้มีมติถอดถอนกรรมการดำเนินการ ถ้ามีการร้องขอให้เปลี่ยนตัวประธานในที่ประชุมก็ให้กระทำได้โดยเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะคราวนั้น หรือจนเสร็จการประชุม มติเลือกประธานในที่ประชุมในกรณีนี้ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกซึ่งมาประชุม
การออกเสียงและการวินิจฉัยปัญหาในที่ประชุม
ข้อ ๖๗. การออกเสียง สมาชิกหรือกรรมการดำเนินการหรืออนุกรรมการอื่น ในการลงคะแนนออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะอนุกรรมการอื่น สุดแต่กรณีได้เพียงคนละหนึ่งเสียง จะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงแทนตนไม่ได้
ถ้าปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ ๖๘. การวินิจฉัยปัญหา การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการหรือที่ประชุมคณะอนุกรรมการอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกซึ่งมาประชุม
(๑) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(๒) การเลิกสหกรณ์
(๓) การควบสหกรณ์
(๔) การแยกสหกรณ์
(๕) การอื่นใดที่ที่ข้อบังคับกำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกซึ่งมา ประชุม
รายงานการประชุม
ข้อ ๖๙. รายงานการประชุม ในการประชุมใหญ่ การประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะอนุกรรมการอื่นนั้น ต้องจัดให้ผู้เข้าประชุมลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุมกับกรรมการดำเนินการหรืออนุกรรมการอื่น แล้วแต่กรณี อีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
หมวด ๘
ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหรณ์
ข้อ ๗๐. การจ้างและแต่งตั้งผู้จัดการ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถและความเหมาะสม เพื่อแต่งตั้งหรือจ้างเป็นผู้จัดการของสหกรณ์โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕๓ (๑) , (๒) , (๓) , (๔) ในการจ้างผู้จัดการสหกรณ์ต้องทำหนังสือสัญญาจ้างไว้เป็นหลักฐานและให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกให้มีหลักประกันอันสมควร
ในการแต่งตั้งหรือจ้างผู้จัดการ ต้องให้ผู้จัดการรับทราบและรับรองที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกำหนดไว้ในข้อ ๗๒ เป็นลายลักษณ์อักษร
ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจกำหนดระเบียบของสหกรณ์เกี่ยวกับการคัดเลือก หรือสอบคัดเลือก การแต่งตั้งหรือจ้าง การกำหนดอัตราเงินเดือน การให้สวัสดิการ และการให้ออกจากตำแหน่งของผู้จัดการสหกรณ์
ข้อ ๗๑. การดำรงตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ สหกรณ์อาจจ้างผู้จัดการโดยกำหนดระยะเวลาหรือไม่กำหนดระยะเวลาก็ได้
ข้อ ๗๒. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับบรรดากิจการประจำของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกให้เป็นการถูกต้อง ตลอดจนเป็นธุระจัดให้ผู้เข้าเป็นสมาชิกลงลายมือชื่อในทะเบียนสมาชิก และชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้ากับเงินค่าหุ้นตามข้อบังคับของสหกรณ์
(๒) ควบคุมให้มีการเก็บเงินค่าหุ้นรายเดือน แจ้งยอดจำนวนหุ้น จ่ายคืนค่าหุ้นและชักชวนการถือหุ้นในสหกรณ์
(๓) รับฝากเงิน จ่ายคืนเงินฝาก และส่งเสริมการรับฝากเงินของสหกรณ์
(๔) เป็นธุระในการตรวจสอบคำขอกู้ จ่ายเงินกู้ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับเงินกู้และดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องการให้เงินกู้ให้เป็นไปตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้
(๕) จัดทำรายละเอียดเงินค่าหุ้น และเงินให้กู้แก่สมาชิกคงเหลือเป็นรายบุคคลทุกระยะหกเดือน พร้อมกับแจ้งให้สมาชิกทราบเป็นรายบุคคลเฉพาะของสมาชิก
(๖) พิจารณาจัดจ้างเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในระเบียบรวมถึงกำหนดหน้าที่และวิธีปฏิบัติงานของบรรดาเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(๗) เป็นธุระกวดขันในเรื่องการออกใบรับ เรียกใบรับ หรือจัดให้มีใบสำคัญโดยครบถ้วน รับผิดชอบในการรับจ่ายเงินทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นการถูกต้อง รวบรวมใบสำคัญและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการเงินไว้โดยครบถ้วน และเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
(๘) รับผิดชอบและดูแลในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(๙) ติดต่อประสานงานกับเลขานุการในการนัดเรียกประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และประชุมคณะอนุกรรมการอื่น
(๑๐) รับผิดชอบจัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุน และรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(๑๑) จัดทำแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา
(๑๒) จัดทำแผนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับแผนงานที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่
(๑๓) เข้าร่วมประชุมและชี้แจงในการประชุมใหญ่ ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และประชุมคณะอนุกรรมการอื่น เว้นแต่ในกรณีซึ่งที่ประชุมนั้น มิให้เข้าร่วมประชุม
(๑๔) ปฏิบัติการเกี่ยวกับงานสารบรรณหนังสือของสหกรณ์
(๑๕) รักษาดวงตราของสหกรณ์ และรับผิดชอบตรวจตราดูแลทรัพย์สินต่างๆ ของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย
(๑๖) เสนอรายงานกิจการประจำเดือนของสหกรณ์ต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(๑๗) เสนอรายการหรือรายงานของสหกรณ์ต่อทางราชการตามแบบและระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด
(๑๘) ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการ หรือคณะอนุกรรมการอื่นของสหกรณ์มอบหมายให้ หรือตามที่ควรกระทำเพื่อให้กิจการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี
ข้อ ๗๓. การพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการ ผู้จัดการของสหกรณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ลาออกโดยแสดงความจำนงทำเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(๓) ขาดคุณสมบัติตามระเบียบของสหกรณ์ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายสหกรณ์กำหนด
(๔) อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หรือครบกำหนดตามสัญญาจ้าง
(๕) ถูกเลิกจ้าง
(๖) ถูกลงโทษให้ออกหรือไล่ออก หรือมีพฤติกรรมอันแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่า ได้กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใด ๆ อันอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีแก่ประชาชนหรือไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์
ข้อ ๗๔. การลาออก ให้ผู้จัดการสหกรณ์ยื่นหนังสือถึงสหกรณ์ก่อนวันที่จะออกไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
และให้เลขานุการคณะกรรมการดำเนินการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาการลาออกนั้น การยับยั้งการลาออกของผู้จัดการสหกรณ์กระทำได้ไม่เกินหกสิบวัน
ข้อ ๗๕. การมอบหมายงานในหน้าที่ผู้จัดการให้กรรมการดำเนินการ ถ้าสหกรณ์ยังมิได้มีการจัดจ้างและแต่งตั้งผู้จัดการ หรือสหกรณ์ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่สหกรณ์ในตำแหน่งอื่นด้วยได้ให้คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายงานในหน้าที่ผู้จัดการให้กรรมการดำเนินการคนใดคนหนึ่งตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๗๖. การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้จัดการ ถ้าตำแหน่งผู้จัดการว่างลง และยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งแทน หรือเมื่อผู้จัดการไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้กรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย หรือรองผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายเป็นผู้รักษาการแทน
ข้อ ๗๗. การเปลี่ยนผู้จัดการ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนผู้จัดการ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ดำเนินการต้องจัดให้มีการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีและการเงิน กับบรรดาทรัพย์สินและหนี้สิน ตลอดจน จัดทำงบดุลของสหกรณ์เพื่อทราบฐานะอันแท้จริงก่อนที่จะส่งมอบงาน
ข้อ ๗๘. เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ นอกจากตำแหน่งผู้จัดการแล้ว สหกรณ์อาจจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อื่น โดยต้องไม่เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๕๓ (๑) , (๒) , (๓) , (๔) ตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานในสหกรณ์ ทั้งนี้ ตามระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการกำหนด
ที่ปรึกษา
ข้อ ๗๙. ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจเชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ซึ่งทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถและเหมาะสมเป็นที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ได้ เพื่อให้ความเห็นแนะนำในการดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์
ผู้ตรวจสอบกิจการ
ข้อ ๘๐. ผู้ตรวจสอบกิจการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ผู้มีคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจ การเงิน การบัญชี การเศรษฐกิจหรือการสหกรณ์ เป็นผู้ตรวจสอบกิจการของ สหกรณ์เป็นการประจำปี จำนวนไม่เกินห้าคนหรือหนึ่งนิติบุคคล
ที่ประชุมใหญ่จะเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหน้าที่ประจำในสหกรณ์เป็นผู้ตรวจสอบกิจการไม่ได้
ข้อ ๘๑. การดำรงตำแหน่งผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการอยู่ในตำแหน่งได้มีกำหนดเวลาหนึ่งปีทางบัญชีสหกรณ์ ถ้าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้วยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ตรวจสอบกิจการคนใหม่ ก็ให้ผู้ตรวจสอบกิจการคนเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน
ผู้ตรวจสอบกิจการซึ่งออกไปนั้น อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำ
ข้อ ๘๒. อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจสอบกิจการมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ การดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ คือ
(๑) ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด บัญชี ทะเบียนและการเงิน ตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งปวงของสหกรณ์ เพื่อทราบฐานะและข้อเท็จจริงของสหกรณ์ที่เป็นอยู่จริง
(๒) ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทของสหกรณ์ เพื่อประเมินผลและอาจให้ข้อแนะนำแก่คณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ทั้งทางวิชาการ และทางปฏิบัติในกิจการนั้นๆ
(๓) ตรวจสอบการจัดจ้างและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ตลอดจนหนังสือสัญญาจ้างและ หลักประกัน
(๔) ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผนงานและการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของสหกรณ์
(๕) ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงแผนงาน ข้อบังคับ ระเบียบ มติ ตลอดจนคำสั่งต่าง ๆ ของสหกรณ์
(๖) ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ หรือกิจการอื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินกิจการของสหกรณ์
ให้ผู้ตรวจสอบกิจการเสนอรายงานผลการตรวจสอบประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไป แล้วเสนอผลการตรวจสอบประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย
หากพบข้อบกพร่องจากการตรวจสอบ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินแก้ไขโดยมิชักช้า ผู้ตรวจสอบกิจการอาจเสนอแนะแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องนั้นด้วยก็ได้
ให้ผู้ตรวจสอบกิจการเสนอรายงานผลการตรวจสอบประจำเดือนต่อคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมประจำเดือนคราวถัดไป แล้วเสนอผลการตรวจสอบประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ด้วย
ข้อ ๘๓. ความรับผิดของผู้ตรวจสอบกิจการ หากผู้ตรวจสอบกิจการตรวจพบข้อบกพร่องของสหกรณ์ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการดำเนินการทราบเพื่อแก้ไขโดยเร็ว ผู้ตรวจสอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย อันจะเกิดแก่สหกรณ์ด้วยเหตุอันไม่แจ้งนั้น
หมวด ๙
แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อ ๘๔. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) ต้องกำหนดในระเบียบวาระการประชุมใหญ่เป็นเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และให้แจ้งไปยังสมาชิกพร้อมหนังสือแจ้งระเบียบวาระการประชุมใหญ่
(๒) คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะเสนอวาระแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับได้ เมื่อมีการพิจารณาเรื่องที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ โดยมติให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับนั้นให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการดำเนินการที่มาประชุม หรือสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการดำเนินการให้เรียกประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับก็ได้ โดยต้องระบุข้อความที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นพร้อมด้วยเหตุผล
(๓) การพิจารณาวาระการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้กระทำได้แต่เฉพาะในการประชุมใหญ่ ที่มีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน แล้วแต่กรณี
(๔) ข้อความใดที่ที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว หากปรากฏว่าข้อความนั้นขัดกับกฎหมายหรือไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้สหกรณ์แก้ไขข้อความนั้น แล้วรับจดทะเบียน
(๕) ข้อบังคับที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนแล้ว หากยังไม่ได้กำหนดระเบียบหรือคำสั่งให้สอดคล้องกัน ก็ให้นำความที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับแล้วนั้นมาบังคับใช้ และให้ผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ
หมวด ๑๐
ข้อเบ็ดเสร็จ
ข้อ ๘๕. ระเบียบของสหกรณ์ ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่กำหนดระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับนี้ และเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของสหกรณ์ รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(๑) ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากจากสมาชิก
(๒) ระเบียบว่าด้วยการรับเงินฝากจากสหกรณ์อื่น
(๓) ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้แก่สมาชิก
(๔) ระเบียบว่าด้วยการให้เงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้แก่สหกรณ์อื่น
(๕) ระเบียบว่าด้วยการถือหุ้นของสมาชิก
(๖) ระเบียบว่าด้วยการโอนสมาชิกระหว่างสหกรณ์
(๗) ระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน
(๘) ระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์
(๙) ระเบียบว่าด้วยการใช้ทุนเพื่อสาธารณประโยชน์
(๑๐) ระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษา การยืม การทำลายเอกสาร
(๑๑) ระเบียบอื่น ๆ ที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรกำหนดไว้ให้มี เพื่อสะดวกและเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของสหกรณ์
เฉพาะระเบียบใน (๑) , (๒) , (๔) ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ก่อนจึงจะใช้บังคับได้ ส่วนระเบียบอื่นเมื่อคณะกรรมการดำเนินการกำหนดใช้แล้ว ให้ส่งสำเนาให้นายทะเบียนสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบ
ข้อ ๘๖. การดำเนินคดีเกี่ยวกับความเสียหาย ในกรณีที่ทรัพย์สินของสหกรณ์ถูกยักยอก หรือเสียหายโดยประการใด ๆ ก็ดี หรือในกรณีที่สหกรณ์เรียกคืนเงินกู้ตามข้อ ๘๕ (๓) , (๔) แต่มิได้รับชำระตามเรียกก็คือ คณะกรรมการดำเนินการต้องร้องทุกข์ หรือฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ
ข้อ ๘๗. การตีความในข้อบังคับ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการตีความในข้อบังคับข้อใด ให้สหกรณ์เสนอปัญหานั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อขอคำวินิจฉัย และให้สหกรณ์ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนสหกรณ์
ข้อ ๘๘. ทรัพย์สินของสหกรณ์ การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของสหกรณ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นเอกฉันท์ และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ด้วย
การลงมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตามความในวรรคแรก ให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกซึ่งมาประชุม
ข้อ ๘๙. การจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสหกรณ์ต้องเลิก เมื่อสหกรณ์ต้องเลิกและได้จัดการชำระบัญชีโดยจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดทั้งจ่ายคืนเงินรับฝากพร้อมด้วยดอกเบี้ยและชำระหนี้สินอื่นๆ ของสหกรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใด ให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับดังต่อไปนี้
(๑) จ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(๒) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอัตราที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(๓) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนตามข้อ ๒๗ (๒)
เงินที่จ่ายตามข้อ ๘๙(๒) และ (๓) เมื่อรวมทั้งสิ้นต้องไม่เกินยอดรวมแห่งจำนวนเงินกำไรสุทธิที่สหกรณ์หาได้ ในระหว่างปีที่เลิกสหกรณ์กับทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลที่ถอนไปตามข้อ ๒๗ (๔) ในปีนั้น
ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีกให้โอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ
ข้อ ๙๐. ในกรณีที่ข้อบังคับนี้มิได้กำหนดข้อความเรื่องใดไว้ ให้สหกรณ์รับบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ตลอดจนคำสั่ง หรือคำแนะนำ และระเบียบปฏิบัติของนายทะเบียนสหกรณ์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งแห่งข้อบังคับนี้ด้วย
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๙๑. ให้บรรดาระเบียบ มติ คณะกรรมการดำเนินการ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ข้อบังคับนี้มีผลใช้บังคับ ยังใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ มติคณะกรรมการดำเนินการ หรือคำสั่งที่ออกตามข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๙๒. ให้คณะกรรมการดำเนินการ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเดิมของสหกรณ์
พลเรือโท ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วีรวัฒน์ วงษ์ดนตร ประธานกรรมการ
(วีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี)
นาวาเอก ศุภกร ปรกแก้ว เลขานุการ
(ศุภกร ปรกแก้ว)
เหตุผล ที่ต้องยกเลิกข้อบังคับเดิมและใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน โดยสหกรณ์จะเปิดรับสมาชิกสมทบ เพื่อขยายกิจการของสหกรณ์
ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด
แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๕๐
ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๔๙ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด เมื่อวันที่ ๑๒ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้แก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ และนายทะเบียนสหกรณ์ได้รับจดทะเบียนแล้ว มีความดังนี้
ข้อ ๑. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐”
ข้อ ๒. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน
ข้อ ๓. ให้ยกเลิกข้อบังคับสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อ ๒๗. แห่งข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด พ.ศ. ๒๕๔๙ เลขทะเบียนข้อบังคับที่ ๑๐๑๐๐๐๐๘๒๕๔๙๔ เสียทั้งหมด และใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ ๒๗. การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้ปิดบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปแล้ว ปรากฏว่าสหกรณ์มีกำไรสุทธิให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด
กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรตามความในวรรคก่อนนั้น ที่ประชุมใหญ่อาจจะจัดสรรได้ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิก แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา อนึ่ง ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลตาม (๔) ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วยจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้น ก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว
ในการคำนวณเงินปันผลตามหุ้น ให้ถือว่าหุ้นที่สมาชิกได้ชำระต่อสหกรณ์ภายในวันที่เจ็ดของเดือน มีระยะเวลาสำหรับคำนวณเงินปันผลตั้งแต่เดือนนั้น ส่วนหุ้นที่สมาชิกชำระต่อสหกรณ์หลังวันที่เจ็ดของเดือน สหกรณ์จะคิดเงินปันผลให้ตั้งแต่เดือนถัดไป
(๒) เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี เว้นแต่สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยในปีใด มิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น
(๓) เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ
(๔) เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลไม่เกินร้อยละสองแห่งทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปีนั้น จนกว่าจะมีจำนวนถึงร้อยละแปดแห่งทุนเรือนหุ้นดังกล่าว ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นตาม (๑)
(๕) เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามระเบียบของสหกรณ์
(๖) เป็นทุนเพื่อการศึกษาอบรมทางสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิตามระเบียบสหกรณ์
(๗) เป็นทุนสวัสดิการ หรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิตามระเบียบสหกรณ์
(๘) เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงานหรือกองทุนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์
(๙) กำไรสุทธิส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) ให้สมทบเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น
ข้อ ๔. ให้ยกเลิกข้อบังคับสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อ ๓๔. แห่งข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมอู่ทหารเรือ จำกัด พ.ศ. ๒๕๔๙ เลขทะเบียนข้อบังคับที่ ๑๐๑๐๐๐๐๘๒๕๔๙๔ เสียทั้งหมด และใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ ๓๔. สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิก และสมาชิกสมทบ ผู้เข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกสมทบต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน เมื่อได้ปฏิบัติดังนี้แล้วจึงจะถือว่าได้สิทธิในฐานะสมาชิกและสมาชิกสมทบ
(ก) สิทธิของสมาชิก มีดังนี้
(๑) เข้าร่วมประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน
(๒) เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
(๓) เสนอหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์
(๔) ได้รับบริการทางธุรกิจและทางวิชาการจากสหกรณ์
(๕) สิทธิอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์
(ข) หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
(๑) ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(๒) เข้าร่วมประชุมทุกครั้งที่สหกรณ์นัดหมาย
(๓) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์การที่เข้มแข็ง
(๔) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
(๕) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการ พัฒนาสหกรณ์ให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง
(ค) สิทธิของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(๑) สิทธิเกี่ยวกับการฝากเงินกับสหกรณ์ ตามระเบียบการรับเงินฝากจากสมาชิก
(๒) สิทธิเกี่ยวกับการเปลี่ยน แปลง ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ และที่อยู่ตามข้อ ๓๗ การตั้งผู้รับโอนประโยชน์ ตามข้อ ๓๘ และการลาออกจากสหกรณ์ตามข้อ ๔๐ โดยอนุโลม
(3) ถือหุ้นแรกเข้าไม่ต่ำกว่าห้าสิบหุ้น และสูงสุดไม่เกินห้าร้อยหุ้น แต่การถือหุ้นเพิ่มให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์
(๔) สามารถกู้เงินเฉพาะประเภทสามัญได้ไม่เกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าหุ้นและ หรือเงินฝากออมทรัพย์ที่ตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ในเวลานั้น ส่วนการชำระหนี้เงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยเงินให้กู้แก่สมาชิกและดอกเบี้ยเงินกู้
(๕) ได้รับการบริการทางวิชาการจากสหกรณ์
(ง) หน้าที่ของสมาชิกสมทบ มีดังนี้
(๑) ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติ และคำสั่งของสหกรณ์
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นองค์การที่เข้มแข็ง
(๓) ร่วมมือกับคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง
(๔) สอดส่องดูแลกิจการของสหกรณ์
พลเรือโท ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วีรวัฒน์ วงษ์ดนตร ประธานกรรมการ
(วีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี)
นาวาเอก ศุภกร ปรกแก้ว เลขานุการ
(ศุภกร ปรกแก้ว)
หมายเหตุ
– แก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเพื่อให้สหกรณ์สามารถจัดสรรกำไรสุทธิเป็นทุนสวัสดิการหรือการสงเคราะห์ฯอื่นๆได้เพิ่มขึ้นใน อนาคต
– เพื่อความมั่นคงของสหกรณ์